วันพุธที่ 4 มิถุนายน พ.ศ. 2557

ทีเอ็มบีแฉรายย่อยฝากน้อยแต่กู้หนัก 

บั่นทอนศักยภาพการชำระหนี้



          ทีเอ็มบีแฉรายย่อยฝากน้อยแต่กู้หนัก บั่นทอนศักยภาพการชำระหนี้  แนะรัฐชูการออมเป็นนโยบายชาติ
          ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี หรือ TMB Analytics ระบุว่า ยุทธศาสตร์สนับสนุนการออมของประเทศเป็นสิ่งจำเป็นหลังสัญญาณการออมในรอบทศวรรษที่ผ่านมา ส่อปัญหาเงินฝากของรายย่อยเพิ่มขึ้นไม่ทันการขยายตัวของหนี้ภาคครัวเรือนที่เร่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในกลุ่มผู้มีรายได้น้อย แม้ทางเลือกในการออมจะมีหลากหลายแต่การฝากเงินกับธนาคารพาณิชย์ก็ยังเป็นทางเลือกอันดับแรกเพราะใช้บริการได้ง่ายและปลอดภัยภายใต้เงื่อนไขกฎหมายคุ้มครองเงินฝากที่มียอดไม่เกิน 1 ล้านบาท จะได้รับการคุ้มครองแน่นอน ทำให้การออมของประชาชนจึงยังอยู่ที่เงินฝากธนาคารพาณิชย์ ซึ่งส่วนใหญ่ก็คือผู้ฝากเงินรายย่อย
          ในรอบทศวรรษที่ผ่านมา (เปรียบเทียบข้อมูล มีนาคม 2547 กับ มีนาคม 2557) พบว่าการฝากเงินของรายย่อยซึ่งมีเงินฝากไม่เกิน 1 ล้านบาทต่อบัญชี มีสัดส่วน 98% ของจำนวนบัญชีเงินฝากทั้งหมดแต่มีอัตราการเพิ่มของยอดเงินฝากโดยเฉลี่ยเพียง 5.7% ต่อปี ต่ำกว่าการขยายตัวของรายได้ต่อหัวของคนไทยที่เพิ่มขึ้น 6.5% ต่อปี ที่แย่ไปกว่านั้นคืออัตราการขยายตัวของเงินฝากรายย่อยนั้นต่ำกว่าการก่อหนี้ภาคครัวเรือนที่เพิ่มถึง 13.7% ต่อปี  เมื่อศึกษาพฤติกรรมการออมของคนไทยในช่วงสิบปีที่ผ่านมาพบว่า อัตราการเติบโตของยอดเงินในบัญชีมักจะเพิ่มตามขนาดของบัญชี อาทิ กลุ่มบัญชีเงินฝากที่มียอดฝากไม่เกิน 5 หมื่นบาท มีการขยายตัวของยอดเงินฝากรวมที่อัตรา 4.5% ต่อปี ต่ำกว่ากลุ่มบัญชีเงินฝากที่มียอดระหว่าง 5 แสนถึง 1 ล้านบาท ที่ขยายตัว 6.3% ทำให้ตีความได้ว่าผู้ที่มีกำลังการออมสูงกว่าหรือมีรายได้ที่จะออมมากกว่าจะมีความสามารถ “ให้เงินทำงาน” ได้มากกว่า
           แต่ผู้ที่มีรายได้ไม่สูงก็เพิ่มเงินออมได้ถ้าตั้งใจจริงโดยลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นเช่นควรเลิก “จน เครียด กินเหล้า” เพราะจากตัวเลขการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือนโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติในปี 2554 ชี้ว่าค่าใช้จ่ายสำหรับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และยาสูบมีสัดส่วนประมาณ 1% ของค่าใช้จ่ายทั้งสิ้นต่อเดือน หากเลิกใช้จ่ายส่วนนี้ได้เงินออมก็งอกเงย 1% ของรายจ่ายต่อเดือน ส่วนค่าใช้จ่ายในการเล่นหวยและการพนันมีสัดส่วนประมาณ 1% ของค่าใช้จ่ายทั้งสิ้นต่อเดือน ดังนั้นถ้าเลิกเหล้าและการพนันได้ เงินออมก็จะงอกเงยร่วม 2% ยิ่งหากลดค่าใช้จ่ายในการสื่อสารที่มีโครงสร้างประมาณ 3% ของรายจ่ายรายเดือนลงได้หนึ่งในสาม เราจะมีเงินออมเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 3%
           จากผลสำรวจเดียวกันนี้ยังพบอีกว่า กลุ่มผู้ที่มีรายได้น้อยจะมีสัดส่วนหนี้ที่นำมาใช้ในการบริโภคอุปโภคต่อหนี้สินในอัตราที่ค่อนข้างสูง กลุ่มครัวเรือนที่มีรายได้ต่อเดือนไม่เกิน 15,000 บาท จะมีสัดส่วนของหนี้เพื่อการอุปโภคบริโภคสูงถึง 51% เทียบกับกลุ่มครัวเรือนที่มีรายได้ต่อเดือนมากกว่า 15,000 บาท ที่มีสัดส่วนเพียง 36%
           สถิติข้างต้นสะท้อนให้เห็นภาวะออมน้อยกู้มาบริโภคหนักโดยเฉพาะในกลุ่มผู้มีรายได้น้อย ซึ่งส่งผลไปยังศักยภาพในการชำระหนี้รวมไปถึงปัญหาทางการเงิน ยิ่งกว่านั้นการก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุของประเทศไทยอาจสร้างภาระทางการเงินให้กับประเทศได้มาก เช่น คนอาจมีเงินไม่พอใช้จ่ายในการดำรงชีพ หรือ รัฐต้องจัดงบประมาณให้เป็นสวัสดิการแก่ประชาชนมากขึ้นซึ่งจะก่อให้มีปัญหาการคลังตามมาได้ เป็นต้นหากภาวะการออมของคนไทยยังไม่ได้รับการดูแลแก้ไขให้เป็นนโยบายระดับชาติ

ที่มา : http://www.ryt9.com เสาร์ที่ 31 พฤษภาคม 2557

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น