ทิศทางธุรกิจ....ภายใต้โรดแมพ (Road Map) ของ คสช.
ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีเอ็มบี หรือ TMB Analytics มองโรดแมพด้านเศรษฐกิจของ คสช. จะช่วยให้ภาคธุรกิจฟื้นตัวได้ แต่มากหรือน้อยขึ้นอยู่กับความชัดเจนของแผนงานในทางปฏิบัติ และการปรับตัวของผู้ประกอบการ
ผลจากการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปลายเดือนพฤษภาคม ส่งผลให้ภาพการเมืองและเศรษฐกิจมีความชัดเจนมากขึ้น หลังจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติได้ประกาศโรดแมพ (Road map) แผนฟื้นฟูเศรษฐกิจออกมา ทาง TMB Analytics ได้มองภาคธุรกิจอุตสาหกรรมในประเทศช่วงที่เหลือของปีออกเป็น 3 กลุ่ม ดังนี้
กลุ่มแรก คือ “ธุรกิจที่ฟื้นตัวเร็ว” ได้แก่ สินค้าอุปโภคบริโภค สินค้าอาหารและเครื่องดื่ม ธุรกิจร้านค้าปลีกต่างๆ ซึ่งได้รับผลพวงจากเม็ดเงินจำนำข้าวที่ได้เริ่มดำเนินการจ่ายคืนกลับเข้าสู่กระเป๋าของเกษตรกรแล้วครึ่งหนึ่ง (ล่าสุดจ่ายแล้ว 4 หมื่นล้านบาทจากยอดค้างจ่าย 9.3 หมื่นล้านบาท) ทำให้มีเงินหมุนเวียนเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจมากขึ้น รวมถึงภาคธุรกิจท่องเที่ยวที่มีทิศทางดีขึ้นหลังจากมีการยกเลิกประกาศเคอร์ฟิวในพื้นที่ท่องเที่ยวสำคัญไปแล้วบางส่วน ได้แก่ พัทยา กระบี่ เกาะสมุย พังงา ภูเก็ต หาดใหญ่ ชะอำ เกาะช้าง หัวหิน และเกาะพะงัน
กลุ่มต่อมา คือ “ธุรกิจที่มีแนวโน้มฟื้นตัว” ได้แก่ ธุรกิจผลิตและขายรถยนต์ รถจักรยานยนต์ เฟอร์นิเจอร์ เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งในปัจจุบันพบว่ากำลังซื้อยังอ่อนแรงอยู่ แต่ด้วยทิศทางการปรับโครงสร้างทางการเมืองและเศรษฐกิจ ประกอบกับความเชื่อมั่นที่ดีขึ้น จะทำให้แนวโน้มเศรษฐกิจค่อยๆ ปรับตัวดีขึ้น และน่าจะเข้าสู่ภาวะปกติได้อีกครั้งในปีหน้า อย่างไรก็ดี ธุรกิจที่อิงกับภาคการเกษตรยังคงต้องติดตามปัจจัยเสี่ยงอันเนื่องมาจากราคาสินค้าเกษตรที่อยู่ในระดับต่ำ ซึ่งอาจจะส่งกระทบต่อกำลังซื้อของธุรกิจเหล่านั้นในระยะถัดไปได้
และในกลุ่มสุดท้าย คือ “ธุรกิจที่ต้องรอปัจจัยหนุน” ซึ่งเป็นกลุ่มธุรกิจที่ต้องมีมาตรการหรือนโยบายจากภาครัฐช่วยกระตุ้น ได้แก่ กลุ่มธุรกิจวัสดุก่อสร้าง รับเหมาก่อสร้าง อสังหาริมทรัพย์ เครื่องจักรและอุปกรณ์ เนื่องจากภาครัฐอยู่ในระหว่างการดำเนินมาตรการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ อาทิ การตั้งบอร์ดบีโอไอเพื่ออนุมัติเงินลงทุนกว่า 7.6 แสนล้าน การลดขั้นตอนจากออกใบอนุญาต รง.4 โดยเฉพาะโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ติดตั้งบนหลังคาจะช่วยเสริมสร้างความเชื่อมั่นการลงทุนจากในประเทศและต่างประเทศเพิ่มขึ้น ซึ่งมาตรการต่างๆ เหล่านี้ อาจต้องรอเวลาสักพัก จึงจะทำให้กลุ่มธุรกิจที่รอปัจจัยหนุนได้รับอานิสงส์อย่างเต็มที่
ทั้งนี้ ปัยจัยสำคัญสำหรับการฟื้นตัวของภาคธุรกิจในปัจจุบัน เป็นเรื่องของความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการและผู้บริโภคด้านความชัดเจนของโครงสร้าง นโยบาย แผนงาน และมาตรการทางเศรษฐกิจของภาครัฐที่ทยอยออกมาว่าจะสามารถแปลงให้เกิดผลสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรมในทางปฏิบัติได้มากขนาดไหน ซึ่งในส่วนภาคธุรกิจคงต้องปรับตัวตาม และเลือกวางแผนธุรกิจให้มีความสอดคล้องกับแผนงานใหม่ๆของภาครัฐ อันจะนำไปสู่การฟื้นตัวของธุรกิจอย่างมีประสิทธิภาพได้