หั่นคาดการณ์ 2557 หวั่นการเมืองกระชับพื้นที่เศรษฐกิจ
ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี หรือ TMB Analytics ปรับลดประมาณการอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยปีนี้ลง จากร้อยละ 2.9 เหลือร้อยละ 2.0 เหตุความไม่แน่นอนทางการเมืองบั่นทอนการใช้จ่าย โดยเฉพาะการลงทุนภาคเอกชน คาดอาจได้เห็นสภาพัฒน์ฯ เผยจีดีพีไตรมาสแรกหดตัวจากไตรมาสก่อนหน้าร้อยละ 1.7
เครื่องชี้เศรษฐกิจไตรมาสแรกปี 2557 หลายตัวบ่งชี้ถึงความอ่อนแอของภาวะเศรษฐกิจไทยที่ได้รับผลกระทบจากความยืดเยื้อของสถานการณ์ทางการเมือง ไม่ว่าจะเป็นดัชนีการอุปโภคบริโภคภาคเอกชนที่ปรับตัวลดลงร้อยละ 1.4 ในเดือนมีนาคม หรือดัชนีการลงทุนภาคเอกชนที่หดตัวถึงร้อยละ 6.4 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนหน้า สะท้อนความระมัดระวังในการจับจ่ายใช้สอยของประชาชน และการชะลอการลงทุนออกไปก่อนของภาคธุรกิจ
จริงอยู่ที่เศรษฐกิจไทยนั้นเริ่มส่งสัญญาณชะลอตัวมาตั้งแต่ช่วงไตรมาสสองของปี 2556 ก่อนที่การชุมนุมทางการเมืองจะเริ่มต้น แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า การเมืองเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้การชะลอตัวดังกล่าว “ลากยาว” แทนที่จะกลับมาฟื้นตัวได้ตามวัฏจักรเศรษฐกิจตามปรกติ ซึ่งถ้าพิจารณาตามปัจจัยพื้นฐานของเศรษฐกิจไทยที่ยังแข็งแกร่งแล้ว เราไม่ควรเห็นภาวะซบเซาข้ามปีเช่นนี้ จากทิศทางเศรษฐกิจที่ยังอ่อนแรงดังกล่าว ทำให้ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี ปรับลดคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปีนี้ลงเหลือร้อยละ 2.0 หรือลดลงมาเกือบร้อยละหนึ่งจากที่ประเมินไว้ก่อนหน้า โดยองค์ประกอบสำคัญของจีดีพีที่หน่วงการขยายตัวก็คือ |
การลงทุนซึ่งน่าจะหดตัวจากปีก่อนหน้ากว่าร้อยละ 5 ในขณะที่การส่งออกเองก็อาจไม่ออกมาดีอย่างที่หลายฝ่ายคาด จากข้อจำกัดบางประการ อาทิ ปัญหาด้านอุปทานของการส่งออกกุ้งจากโรคตายด่วน ราคาสินค้าเกษตร (โดยเฉพาะข้าวและยางพารา) ซึ่งยังถูกกดดันตามราคาตลาดโลก ซ้ำเติมกลไกภาครัฐที่ยังปฏิบัติการได้ไม่เต็มที่จากการเบิกจ่ายงบประมาณในภาพรวมสะดุดลง
ศูนย์วิเคราะห์ฯ ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยจะสามารถกลับมาฟื้นตัวได้ดีขึ้นในครึ่งปีหลัง ในขณะที่ความน่าจะเป็นที่เศรษฐกิจไทยจะเข้าสู่ภาวะถดถอย (จีดีพีหดตัวติดต่อกันสองไตรมาส) ยังคงมีความเป็นไปได้ต่ำ ภายใต้สเถียรภาพทางเศรษฐกิจยังอยู่ในเกณฑ์ดี และเอื้อต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็นอัตราเงินเฟ้อที่เร่งตัวขึ้นบ้างแต่ยังไม่น่ากังวล อัตราดอกเบี้ยนโยบายที่จะถูกตรึงไว้ที่ระดับค่อนข้างต่ำ และค่าเงินบาทที่อ่อนค่าเอื้อต่อผู้ส่งออก อย่างไรก็ตาม ตัวเลขคาดการณ์ข้างต้น อยู่บนสมมติฐานที่ว่าประเทศไทยจะมีรัฐบาลใหม่ในช่วงไตรมาสสามของปี แต่หากไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลใหม่ได้ภายในปีนี้ ซึ่งดูเหมือนจะเป็นสถานการณ์ที่มีความเป็นไปได้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ การขยายตัวทางเศรษฐกิจจะมีความเสี่ยงขาลงมากขึ้น ทำให้อาจเติบโตไม่ถึงร้อยละ 2 ก็เป็นได้ |
รายงานจีดีพีของสภาพัฒน์ ในครั้งนี้ จึงถือว่ามีความสำคัญต่อภาคธุรกิจ และจะมีผลเชิงจิตวิทยาต่อนักลงทุนเช่นกัน เพราะนอกจากจีดีพีไตรมาสหนึ่งจะเป็นไตรมาสแรกที่ได้เห็นผลกระทบจากความไม่แน่นอนทางการเมืองอย่างเต็มๆ แล้ว ตัวเลขนี้จะฉายให้เห็นภาพเศรษฐกิจในไตรมาสที่เหลือของปีอีกด้วย จึงจำเป็นที่ต้องจับตาแถลงการณ์วันจันทร์ที่ 19 พฤษภาคมนี้ อย่างใกล้ชิด
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น