วันพุธที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2557

“ความเป็นเมือง” พลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจภูมิภาค




          ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีเอ็มบี หรือ TMB Analytics ชี้ เทรนด์ความเป็นเมืองกำลังขยายตัวสู่หลายจังหวัดในภูมิภาค  สามารถกระจายรายได้ให้ประชาชนในพื้นที่  นับเป็นการเปิดโอกาสทางธุรกิจให้กว้างขึ้น และเป็นพลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจสู่ภูมิภาค
จากการขยายตัวของเศรษฐกิจภูมิภาคซึ่งเป็นที่สนใจในขณะนี้ ซึ่งสามารถรับรู้ได้จากการเพิ่มขึ้นของรายได้ของประชาชนในภูมิภาค ทำให้กำลังซื้อของประชาชนสูงขึ้น การบริโภค การพักอาศัยและรูปแบบการใช้ชีวิตประจำวันใกล้เคียงกับประชาชนเขตกรุงเทพฯ มากขึ้น นั่นคือ สังคมมี “ความเป็นเมือง” (Urbanization) มากขึ้นนั่นเอง ยิ่งเศรษฐกิจในพื้นที่ดีต่อเนื่อง ย่อมทำให้รายได้ประชาชนเพิ่มขึ้นรวดเร็ว ความเป็นเมืองก็จะเพิ่มขึ้นตามมาด้วย จากข้อมูลเราพบว่า จังหวัดที่มีจุดเด่นทางด้านเศรษฐกิจ จะมีความเป็นเมืองเร็วกว่าจังหวัดอื่นๆ จุดเด่นที่สำคัญคือ
จังหวัดท่องเที่ยว : (ภูเก็ต เชียงใหม่ สุราษฎร์ธานี กระบี่) เศรษฐกิจมีความเป็นเมืองได้เร็วที่สุด เห็นได้จากปริมาณการค้าจังหวัดกลุ่มนี้เติบโตเฉลี่ย 5.44% ต่อปี เพราะเกิดการจ้างงานกระจายรายได้เป็นวงกว้าง เกิดธุรกิจจำนวนมากจากการท่องเที่ยว รายได้ประชาชนจึงเพิ่มขึ้นเร็ว 
จังหวัดฐานการผลิต : (ชลบุรี ระยอง อยุธยา ฉะเชิงเทรา ปราจีนบุรี สระบุรี) ปริมาณการค้าเติบโตเฉลี่ย 5.37% ต่อปี จังหวัดกลุ่มนี้มีนิคมอุตสาหกรรมและสาธารณูปโภคพื้นฐาน จึงเกิดการจ้างงานจำนวนมากในพื้นที่ การเติบโตของการค้าอ่อนไหวตามปัจจัยทั้งในและต่างประเทศ
                                    
จังหวัดการค้าแถบชายแดน : (สงขลา อุดรธานี หนองคาย อุบลราชธานี เชียงราย) เนื่องจากความได้เปรียบที่ตั้ง ทำให้เกิดการค้า การท่องเที่ยวและการลงทุนขับเคลื่อนเศรษฐกิจในจังหวัดกลุ่มนี้ ปริมาณการค้าเติบโต 4.37%ต่อปี และน่าจะเติบโตต่อเนื่องจากเศรษฐกิจเพื่อนบ้านที่ยังมีทิศทางสดใส             
           
จังหวัดการค้าและการขนส่ง : (นครราชสีมา ขอนแก่น นครสวรรค์ พิษณุโลก) เป็นจังหวัดขนาดใหญ่ มีกำลังซื้อจากจังหวัดขนาดเล็กที่อยู่รายรอบช่วยหนุนเศรษฐกิจจังหวัดกลุ่มนี้ ปริมาณการค้าขยายตัวเฉลี่ย 4.06% ต่อปี การเติบโตของการค้าอ่อนไหวตามปัจจัยในประเทศเป็นหลัก

ขณะที่เขต กทม.และปริมณฑล มีการค้าเติบโตเฉลี่ย 4.22% ต่อปี ทั้งสี่กลุ่มจังหวัดจึงมีความเป็นเมืองเร็วมาก และบางจังหวัดอาจมีจุดเด่นหลายด้าน เช่น ชลบุรี ระยอง อยู่ในกลุ่มจังหวัดฐานการผลิต และยังมีการท่องเที่ยวเป็นจุดเด่นอีกด้วย จึงทำให้การค้าขายคึกคักกว่าจังหวัดอื่น ระดับของความเป็นเมืองจึงเกิดเร็วขึ้นตามรายได้ของประชาชน กลุ่มที่ความเป็นเมืองใกล้เคียงกับกรุงเทพฯ คือ ภูเก็ต เชียงใหม่ ชลบุรี ระยอง สงขลา นครราชสีมา ขอนแก่น จังหวัดที่ก้าวสู่ความเป็นเมืองมากขึ้นคือ สุราษฎร์ธานี กระบี่ อยุธยา สระบุรี ฉะเชิงเทรา ปราจีนบุรี อุดรธานี หนองคาย อุบลราชธานี เชียงราย นครสวรรค์ พิษณุโลก

การก้าวสู่ความเป็นเมือง ถือเป็นการเปิดโอกาสทางธุรกิจให้กว้างขึ้น โดยเฉพาะธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการบริโภคและไลฟ์สไตล์ เนื่องจากประชาชนมีกำลังซื้อสูงขึ้น จึงต้องการสินค้าและบริการที่ยกระดับคุณภาพชีวิต และความสะดวกสบายมากขึ้นนั่นเอง ธุรกิจที่จะเห็นการเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจนคือ ธุรกิจค้าปลีกค้าส่ง ที่จะมีรูปแบบของร้านค้าทันสมัย เช่น ร้านสะดวกซื้อ ห้างสรรพสินค้า อาหารและเครื่องดื่ม ดังนั้นธุรกิจ SME ในพื้นที่มีโอกาสเพิ่มขึ้นและความเสี่ยงจากการแข่งขันที่รุนแรงขึ้นพร้อมๆ กัน การเรียนรู้ความต้องการของผู้บริโภคและตอบสนองอย่างตรงจุด จะช่วยลดความเสี่ยงจากการแข่งขันที่รุนแรงจากธุรกิจขนาดใหญ่ได้และได้รับผลบวกเต็มๆ จากเทรนด์ ”ความเป็นเมือง”



หั่นคาดการณ์ 2557 หวั่นการเมืองกระชับพื้นที่เศรษฐกิจ


            ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี หรือ TMB Analytics ปรับลดประมาณการอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยปีนี้ลง จากร้อยละ 2.9 เหลือร้อยละ 2.0 เหตุความไม่แน่นอนทางการเมืองบั่นทอนการใช้จ่าย โดยเฉพาะการลงทุนภาคเอกชน คาดอาจได้เห็นสภาพัฒน์ฯ เผยจีดีพีไตรมาสแรกหดตัวจากไตรมาสก่อนหน้าร้อยละ 1.7
            เครื่องชี้เศรษฐกิจไตรมาสแรกปี 2557 หลายตัวบ่งชี้ถึงความอ่อนแอของภาวะเศรษฐกิจไทยที่ได้รับผลกระทบจากความยืดเยื้อของสถานการณ์ทางการเมือง ไม่ว่าจะเป็นดัชนีการอุปโภคบริโภคภาคเอกชนที่ปรับตัวลดลงร้อยละ 1.4 ในเดือนมีนาคม หรือดัชนีการลงทุนภาคเอกชนที่หดตัวถึงร้อยละ 6.4 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนหน้า สะท้อนความระมัดระวังในการจับจ่ายใช้สอยของประชาชน และการชะลอการลงทุนออกไปก่อนของภาคธุรกิจ
จริงอยู่ที่เศรษฐกิจไทยนั้นเริ่มส่งสัญญาณชะลอตัวมาตั้งแต่ช่วงไตรมาสสองของปี 2556 ก่อนที่การชุมนุมทางการเมืองจะเริ่มต้น แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า การเมืองเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้การชะลอตัวดังกล่าว “ลากยาว” แทนที่จะกลับมาฟื้นตัวได้ตามวัฏจักรเศรษฐกิจตามปรกติ ซึ่งถ้าพิจารณาตามปัจจัยพื้นฐานของเศรษฐกิจไทยที่ยังแข็งแกร่งแล้ว เราไม่ควรเห็นภาวะซบเซาข้ามปีเช่นนี้

จากทิศทางเศรษฐกิจที่ยังอ่อนแรงดังกล่าว ทำให้ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี ปรับลดคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปีนี้ลงเหลือร้อยละ 2.0 หรือลดลงมาเกือบร้อยละหนึ่งจากที่ประเมินไว้ก่อนหน้า โดยองค์ประกอบสำคัญของจีดีพีที่หน่วงการขยายตัวก็คือ

การลงทุนซึ่งน่าจะหดตัวจากปีก่อนหน้ากว่าร้อยละ 5 ในขณะที่การส่งออกเองก็อาจไม่ออกมาดีอย่างที่หลายฝ่ายคาด จากข้อจำกัดบางประการ อาทิ ปัญหาด้านอุปทานของการส่งออกกุ้งจากโรคตายด่วน  ราคาสินค้าเกษตร (โดยเฉพาะข้าวและยางพารา) ซึ่งยังถูกกดดันตามราคาตลาดโลก ซ้ำเติมกลไกภาครัฐที่ยังปฏิบัติการได้ไม่เต็มที่จากการเบิกจ่ายงบประมาณในภาพรวมสะดุดลง
ศูนย์วิเคราะห์ฯ ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยจะสามารถกลับมาฟื้นตัวได้ดีขึ้นในครึ่งปีหลัง ในขณะที่ความน่าจะเป็นที่เศรษฐกิจไทยจะเข้าสู่ภาวะถดถอย (จีดีพีหดตัวติดต่อกันสองไตรมาส) ยังคงมีความเป็นไปได้ต่ำ ภายใต้สเถียรภาพทางเศรษฐกิจยังอยู่ในเกณฑ์ดี และเอื้อต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็นอัตราเงินเฟ้อที่เร่งตัวขึ้นบ้างแต่ยังไม่น่ากังวล อัตราดอกเบี้ยนโยบายที่จะถูกตรึงไว้ที่ระดับค่อนข้างต่ำ และค่าเงินบาทที่อ่อนค่าเอื้อต่อผู้ส่งออก

อย่างไรก็ตาม ตัวเลขคาดการณ์ข้างต้น อยู่บนสมมติฐานที่ว่าประเทศไทยจะมีรัฐบาลใหม่ในช่วงไตรมาสสามของปี แต่หากไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลใหม่ได้ภายในปีนี้ ซึ่งดูเหมือนจะเป็นสถานการณ์ที่มีความเป็นไปได้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ การขยายตัวทางเศรษฐกิจจะมีความเสี่ยงขาลงมากขึ้น ทำให้อาจเติบโตไม่ถึงร้อยละ 2 ก็เป็นได้

รายงานจีดีพีของสภาพัฒน์ ในครั้งนี้ จึงถือว่ามีความสำคัญต่อภาคธุรกิจ และจะมีผลเชิงจิตวิทยาต่อนักลงทุนเช่นกัน เพราะนอกจากจีดีพีไตรมาสหนึ่งจะเป็นไตรมาสแรกที่ได้เห็นผลกระทบจากความไม่แน่นอนทางการเมืองอย่างเต็มๆ แล้ว ตัวเลขนี้จะฉายให้เห็นภาพเศรษฐกิจในไตรมาสที่เหลือของปีอีกด้วย จึงจำเป็นที่ต้องจับตาแถลงการณ์วันจันทร์ที่ 19 พฤษภาคมนี้ อย่างใกล้ชิด